จับตาใกล้ชิดดอกเบี้ยปีเสือ

จาก ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา นับเป็นการประชุมครั้งที่ 8 ของปี 2552 และถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในรอบปี 2552

จับตาใกล้ชิดดอกเบี้ยปีเสือ

โดยภาพรวมจากมติของคณะกรรมการกนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการรักษาอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำไว้ที่ระดับ 1.25% / ปี  เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป หลังการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 1.25% / ปีมาอย่างต่อเนื่อง   นับจากการประชุมครั้งที่ 4  ปี 2552 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นมาสำหรับเหตุผลที่ประชุมกนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25% /ปีในครั้งนี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวว่า เนื่องจากประเมิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งการสนับสนุนด้านนโยบายของ รัฐต่อไป ขณะที่แรงกดดันของเศรษฐกิจต่อภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาจะปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.90% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ  จาก 49 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรล ในช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรล

แม้ว่าขณะนี้จะมีธนาคารกลางในหลายประเทศ   ส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นกันไปแล้วแล้ว ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย   เป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 3.75% / ปี  นับเป็นครั้งที่ 3 ในระยะเวลาห่างไม่กี่สัปดาห์ พร้อมประกาศยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉิน อันเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ นายเกลน สตีเวนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าวภายหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจประเทศออสเตรเลียสามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าประเทศ อื่นทั่วโลก จากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 42,000 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกับธนาคารกลางประเทศนอร์เวย์ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.50% / ปี ซึ่งเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนับ ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารกลางบางประเทศจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เบื้องต้นไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อประเทศไทยแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อย ไป ภายใต้แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน กล่าวย้ำว่า กรณีที่หลายประเทศเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ปรับตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ภาคเอกชนที่เข้ามารับไม้ต่อจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้

“เป็นเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ หลังจากเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากแรงสนับสนุนด้านการเงิน และมาตรการการคลังมาระยะหนึ่ง  และสามารถเดินหน้าด้วยตนเอง จนอุปสงค์ภาคเอกชนสามารถมาทดแทนแรงกระตุ้นจากภาครัฐได้ ทำให้ประเทศเหล่านั้นเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติ จากที่ผ่านมาแรงกระตุ้นทางการเงิน การอัดฉีดสภาพคล่อง เป็นมาตรการช่วยเหลือพิเศษในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงิน โลก เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การสนับสนุนแบบพิเศษจึงต้องทยอยยกเลิกไป” นายไพบูลย์ย้ำ

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่เช่นในหลายประเทศอาจต้องเผชิญกับ ภาวะฟองสบู่ครั้งร้อนแรง อาทิ ฮ่องกง ที่ราคาบ้านในปัจจุบันขยับพุ่งขึ้นกว่า  26% ส่งผลให้ธนาคารกลางฮ่องกงต้องประกาศใช้มาตรการคุมเข้มผู้ซื้อบ้านราคาแพง  หรืออย่างในประเทศเกาหลีที่ยอดปล่อยกู้เพื่อการซื้อขายที่อยู่อาศัยเพิ่มสูง ขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา   เช่นเดียวกับสิงคโปร์ 7 เดือนแรกของปี 2552  มียอดการซื้อขายที่อยู่อาศัยถึง 10,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นเทียบกับยอดขายเฉลี่ยทั้งปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 4,300 ยูนิต

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2553 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจน โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 3.3-3.5%   การดำเนินนโยบายการเงิน  จากนี้จะเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งบรรดานายธนาคารขนาดใหญ่ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า อัตราดอกเบี้ยปีหน้าจะเป็นทิศทางขาขึ้น เริ่มจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  (บมจ.) ที่มองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นทิศทางขาขึ้นในปี 2553  โดยเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงกลางปี 2553 หลังจากการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 1 ของปี 2553 ประมาณ 2.0 – 3.0%  และในเบื้องต้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉลี่ยในปี 2553 น่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.75 – 1.0%
สอดคล้องกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ  บมจ.ธนาคารกสิกรไทย มองว่า

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่ยังมีความเปราะบาง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถึงจะยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะค่อยๆ ปรับขึ้นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2553 เป็นต้นไปโดยทั้งปีเชื่อว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.50.0.75%

“หากแบงก์ชาติปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้าตามที่แบงก์พาณิชย์ประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่แบงก์พาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น  ก่อนที่แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราใกล้เคียงกัน ” นายประสาร กล่าว
ปิดท้ายด้วยนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ มองไม่ต่างว่า แนวโน้มครึ่งหลังของปี 2553 ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสจะปรับเพิ่มอีกอัตรา 0.25-0.50%และคาดว่าครึ่งปีแรกของปี 2553 ทั้งดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ อย่างใด

จะยกเว้นบ้างก็แต่ภาคการเมืองที่ยังอยากให้ธปท.ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ต่ำต่อ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นแล้วก็ตาม  โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นชัดเจนในปี 2553 หลังจากเริ่มพลิกเป็นบวกในไตรมาส 4 ของปีนี้   แต่ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงิน  ผมเห็นว่ายังจำเป็นที่ทางการจะต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อ

“ผมคิดว่าการใช้นโยบายขาขึ้น จะเป็นการสวนภาวะตลาด  แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดแล้วก็ตาม เพราะในปี 2553 ยังเป็นปีที่รัฐต้องดำเนินมาตรการการคลังกระตุ้น และจำเป็นที่จะต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างยั่งยืน ”

อย่างไรก็ตามแม้หลายฝ่ายจะมองตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ย 3.0 – 4.0%  หากทว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่เสี่ยงกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อ ไป ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งปัจจัยด้านความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  ความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคเอกชนจากกรณีโครงการมาบตาพุดที่ภาครัฐจำเป็นจะ ต้องเร่งแก้ไขและหาทางออกโดยเร็วกับอีก 11 โครงการที่เหลือหลังศาลตัดสินไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์คาดไม่ถึง unexpect  อย่างกรณี “ดูไบ เวิลด์ ” ในสถานการณ์ที่โลกวันนี้เป็นพรมแดนที่เชื่อมโยงผลกระทบได้ทั่วถึงกันหมดใน พริบตา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ksmecare.com

ป้ายกำกับ: , , ,

ใส่ความเห็น